วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

มาปลูกมะนาวนอกฤดู ในวงบ่อซีเมนต์ รองรับวัยเกษียณกันเถอะ

การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์
          ผมเองเป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด แต่!ก็อาจจะเหมือนหลายๆคน ที่ไม่อยากทำนาเพราะรู้ดีว่ามันเหนื่อย... หลังจากเรียนจบรับราชการผ่านงานบริษัทเอกชนและทำงานมากว่า 20ปี กลับไม่รู้สึกหรือมีความสุขเหมือนที่ได้มาดูแลต้นมะยงชิดให้พ่อ ที่สำคัญผมได้สุขภาพที่แข็งแรงขึ้น...
           เมื่อเดือนมีนาคม 2557 ก็เลยมีความคิดว่า...ไหนๆก็ต้องมาดูแลต้นมะยงชิดให้พ่ออยู่แล้ว ก็เลยตัดสินใจที่จะปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์... เนื่องจากพื้นที่ปลูกมะยงชิด อยู่ห่างแม่น้ำ(คลองส่งน้ำ)ประมาณ 1 กม. ช่วงหน้าแล้งไม่มีน้ำ และผมก็มีพื้นที่ซึ่งเดิมให้เขาเช่าทำนา 1งาน 30 ตรว. จึงลงมือขุดบ่อเพื่อนำดินมาถมเอาไว้ปลูกมะนาว และได้บ่อน้ำไว้รดมะยงชิดและรดมะนาวในวงบ่อซีเมนต์  เพราะได้อ่านบทความการผลิตมะนาวนอกฤดู ในวงบ่อซีเมนต์ ของกรมวิชาการเกษตรได้บอกว่า...สำหรับเกษตรกรที่มีเนื้อที่น้อย ดินปลูกพืชอื่นๆ ไม่เหมาะสมผู้ที่สนใจด้านการเกษตร สามารถปลูกมะนาวนอกฤดู ในวงบ่อซีเมนต์ทำเป็นอาชีพเสริมได้ดี โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน มะนาวจะมีราคาสูงทุกปีประมาณผลละ 2-7 บาท






          การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์สามารถบังคับให้ออกดอกออกผล ตามวัน เวลา ที่เราต้องการได้ ผลผลิตประมาณ 150-750 ผลต่อต้น ขึ้นอยู่กับพันธุ์ อายุต้นและการปฏิบัติดูแลรักษา  ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีดำเนินการดังนี้ 
          1. การคัดเลือกพันธุ์ 
              มะนาวที่ปลูกในวงบ่อซีเมนต์ใช้ได้ทุกพันธุ์ แต่ที่สำคัญต้องเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ  มีการอกดอก ติดผลง่าย ให้ผลดก ผลมีขนาดใหญ่ เปลือกบาง  มีน้ำมาก  มีกลิ่นหอม  และทนทานต่อโรคและแมลง พันธุ์ที่ตลาดนิยม ได้แก่...
-พันธุ์แป้นรำไพ 
-แป้นจริยา 
-พันธุ์พิจิตร 1 
-พันธุ์ตาฮิติ
เป็นต้น พันธุ์พิจิตร 1 และพันธุ์ตาฮิติ เป็นมะนาวที่ทนทานต่อโรคแคงเกอร์ที่ผล ใบ และลำต้นดีกว่าทุกพันธุ์

@@@ที่สวนอุสาห์...ผมใช้นามสกุลตั้งเป็นชื่อสวน ซึ่งที่สวนจะมีมะยงชิดและมะปราง ประมาณ 25 ต้น และกำลังจะปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์โดยผมตัดสินใจจะใช้พันธุ์...
-พันธุ์พิจิตร 1 จำนวน  10 ต้น
-พันธุ์ตาฮิติ  จำนวน  10 ต้น
-พันธุ์แป้นดกพิเศษ จำนวน  10 ต้น
-แป้นวิเศษ  จำนวน  10 ต้น
-แป้นวโรชา จำนวน  10 ต้น
รวมทั้งหมด 50 วงบ่อ
          2. การเตรียมวงบ่อซีเมนต์ 
              ควรใช้บ่อซีเมนต์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 - 100 ซม.  สูง 40 - 60 ซม.  ที่ด้านล่างหรือก้นบ่อ ควรมีฝาซีเมนต์วงกลมขนาด 80-90 ซม. รองรับอยู่ด้านล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้รากมะนาวหยั่งลงดินนอกก้นบ่อ บังคับออกผลนอกฤดูได้ยาก

@@@ ที่สวนอุสาห์...ผมใช้บ่อซีเมนต์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 ซม.  สูง 35 ซม. ส่วนฝาซีเมนต์วงกลมใช้ขนาด 100 ซม. รองรับอยู่ด้านล่าง
          3. การวางบ่อซีเมนต์ 
              เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานควรวางวงบ่อเป็นแถวเป็นแนว ถ้ามีพื้นที่จำกัด ควรวางแถวเดียวระยะ 2x2 เมตร หรือ 2x3 เมตร แต่ถ้ามีพื้นที่มาก ควรวางวงท่อแบบแถวคู่  2x2 เมตร แต่ละคู่ห่างกัน 3-4 เมตร

@@@ ที่สวนอุสาห์...เนื่องจากมีพื้นที่น้อย เราจึงใช้ระยะห่าง 3x3 
เมตร(วัดจากจุดศูนย์กลาง) ดังนั้นพื้นที่ๆขุดเป็นโคกขึ้นมา จึงวางวงบ่อซีเมนต์ได้ 37 วงบ่อ ส่วนที่เหลืออีก 13 วงบ่อผมจะวางแทรกระหว่างมะยงชิดก็จะได้มะนาวในวงบ่อซีเมนต์รวม 50 วงบ่อพอดี



















          4.  การเตรียมดินปลูก 
               ดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเหมือนการปลูกไม้กระถางทั่วไป เป็นดินชั้นบนที่เป็นดินร่วนมีความอุดมสมบูรณ์สูง โดย...
-ใช้ดินร่วน 3 ส่วน  
-ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2 ส่วน  
-ขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน 
หรือ...
-ใช้ดินร่วน 3 ส่วน 
-ปุ๋ยคอก 1 ส่วน 
-ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน   
-ขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน
ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดีแล้วตักใส่วงบ่อ กดดินหรือขึ้นเหยียบดิน โดยเฉพาะบริเวณขอบบ่อด้านล่างให้แน่น พูนดินสูงจากปากบ่อ 
20-30 ซม. เผื่อดินยุบตัวภายหลัง 

@@@ ที่สวนอุสาห์...ผมได้ศึกษาและดูอัตราส่วนการผสมดินของแต่ละสวน ก็เลยตัดสินใจใช้อัตราส่วนการผสมดินดังนี้
-ใช้ดินร่วน 3 ส่วน  
-ปุ๋ยคอก(ขี้วัว) 2 ส่วน  
-ขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน 
          5.  การปลูก 
               นำต้นพันธุ์มะนาวจากต้นกิ่งตอนต้นปักชำ  หรือต้นต่อยอดที่สมบูรณ์แข็งแรงดีมาปลูกตรงกลางวงบ่อ   โดยขุดหลุม
เล็กน้อย รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 100-150 กรัมต่อหลุม  ใช้มีดกรีดก้นถุงพลาสติกสีดำโดยรอบแล้วนำต้นมะนาวไปวางในหลุม กลบดินเล็กน้อย ใช้มีดกรีดถุงพลาสติกที่เหลือออก กลบดินกดดินให้แน่น ใช้ไม้ไผ่ปักหลักกันลมโยกแล้วรดน้ำให้ชุ่ม 
          6.  การปฏิบัติดูแลรักษา 
               6.1  การให้น้ำ ใช้สายยางรดน้ำหรือต่อระบบน้ำแบบมินิสปริงเกอร์รดน้ำมะนาว 1-2 วันต่อครั้ง หรือวันละ 1 ครั้ง เฉพาะเวลาเช้า 
@@@ ที่สวนอุสาห์...ผมจะต่อระบบรดน้ำโดยใช้สายยางรดน้ำและตั้งใจจะต่อระบบน้ำแบบมินิสปริงเกอร์เพื่อรดน้ำมะนาว โดยใช้เครื่องเก่าที่มีอยู่แล้ว แต่!ต้องหาที่เก็บ ล็อคกุญแจให้มิดชิดเพื่อกันโขมย...







               6.2  การใส่ปุ๋ย  หลังจากปลูกมะนาวได้ 1 เดือน   ควรใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการเจริญเติบโต   โดยใช้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 และปุ๋ยยูเรียเล็กน้อย อัตรา 100-150 กรัม หรือครึ่งกำมือต่อต้น ใส่เดือนละครั้ง ในระยะบังคับให้ออกดอก  ควรใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 สูตร 15-30-15 หรือใส่ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูง อัตรา 100-150 กรัมต่อต้น
               6.3  การคลุมโคนต้น  หลังจากปลูกแล้วควรใช้เศษฟางข้าวหญ้าแห้ง แกลบดิน กาบมะพร้าว ฯลฯ  คลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินและคลุมวัชพืชในวงบ่อด้วย 
               6.4  การตัดแต่งกิ่ง ถ้าต้นมะนาวสมบูรณ์ดี มะนาวจะแตกกิ่งเล็กๆ จำนวนมาก   ควรตัดกิ่งที่ไม่เป็นระเบียบ กิ่งที่ซ้อนกัน กิ่งที่อยู่ด้านล่างของต้น ไม่ควรหนักไปทางทิศใดทิศหนึ่งมากเกินไป เมื่อมะนาวออกผลอาจหักและล้มได้ 
               6.5  การค้ำกิ่ง  มะนาวที่ปลูกในวงบ่อ มีการกระจายรากจำกัด ในพื้นที่ที่มีลมแรง  เมื่อมะนาวติดผลดกมากกิ่งอาจหักหรือโค่นล้มได้ ควรป้องกันโดยการใช้ไม้ไผ่ค้ำยันกิ่งและลำต้นมะนาวแบบนั่งร้านสี่เหลี่ยมหรือปักเป็นกระโจมสามเหลี่ยม ให้มะนาวทุกต้นด้วย 
               6.6  การเพิ่มดินปลูก   หลักจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตและตัดแต่งกิ่งมะนาวแต่ละปี  ควรนำดินร่วนผสมปุ๋ยหมัก
หรือปุ๋ยคอกอัตราส่วน 
-ดินร่วน 1 ส่วน 
-ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน 
หรือ...
-ดินร่วน 1 ส่วน 
-ปุ๋ยคอก 1 ส่วน 
-ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน  
-ผสมปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 100-150 กรัมผสมให้เข้ากัน
ดีแล้วนำมาใส่เพิ่มในวงบ่อให้เต็มปากบ่อ มีลักษณะพูนขึ้นเล็กน้อย
          7.  โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด 
               7.1  โรคที่สำคัญ 
                      โรคแคงเกอร์  เกิดจากเชื้อแบคทีเรียป้องกันกำจัดโดยการใช้พันธุ์ทนทานมาปลูก เช่น พันธุ์พิจิตร 1 พันธุ์ตาฮิติ  ตัดแต่งกิ่ง ใบและผลที่เป็นโรคไปเผาทำลาย และพ่นสารเคมี เช่น สารแคงเกอร์เอ็กซ์ โรครากและโคนเน่า เกิดจากเชื้อราไฟทอบเทอรา ป้องกันกำจัดโดยไม่ควรปลูกมะนาวลึกเกินไป ไม่นำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักสดที่ยังไม่สลายตัวดี  มาเป็นวัสดุปลูกใช้สารเมทาแลคซิลละลายน้ำรดบริเวณโคนต้นที่เป็นโรค  โรคอื่นๆได้แก่ โรคยางไหล โรคใบแก้ว โรคทริสเทซ่าและโรคราดำ ป้องกันกำจัดเช่นเดียวกับพืชสกุลส้มทั่วไป 
               7.2  แมลงศัตรูที่สำคัญ 
                      หนอนชอนใบ  การป้องกันกำจัด ควรตัดแต่งยอดอ่อน ใบอ่อนที่มีไข่หรือหนอนไปเผาทำลาย และพ่นสารเคมี ได้แก่ สารคาร์บาริลหรือสารคาร์โบซัลแฟน เพลี้ยไฟ การป้องกันกำจัด พ่นสารเคมีคาร์โบซัลแฟนหรืออิมิดาโคลพริด ไรแดง การป้องกันกำจัด  พ่นกำมะถันผลชนิดละลายน้ำในช่วงตอนเช้าหรือเย็น  หรือพ่นด้วยสารไดโคฟอล  เช่น เคลเทน เป็นต้น เพื่อรักษาผิวผลไม้ไม่ให้ขรุขระหรือกระด้าง ไม่น่ารับประทานเพลี้ยหอย  การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งมะนาว ที่พบเพลี้ยหอยระบาดไปเผาทำลาย หรือพ่นสารปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 
          8.  การบังคับต้นมะนาวในวงบ่อให้ออกดอดติดผลนอกฤดู ต้นมะนาวที่จะบังคับให้ออกดอกนอกฤดูนั้น ควรมีอายุอย่างน้อย 8 เดือนขึ้นไป ส่วนมะนาวที่มีาอายุมากกว่า 1 ปี และเคยออกดอกติดผลแล้ว -ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม  ควรเด็ดดอกและผลมะนาวในฤดูออกให้หมด 
ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน    ส่วนใหญ่จะมีฝนตกอยู่ควรงดการให้น้ำ พอถึง
- ช่วงปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน ให้นำผ้าพลาสติกที่
กันฝนขนาดกว้าง 1-1.5 เมตร ยาว 1.5-2 เมตร มาคลุมรอบวงบ่อไว้ โดยให้ชายด้านหนึ่งมัดติดกับโคนต้นมะนาว  ให้สูงจากพื้นดินปากบ่อ 20-30 ซม.  คลุมไว้ประมาณ 10-15 วัน  สังเกตใบมะนาวมีอาการเริ่มเหี่ยวใบสลด อาจมีใบร่วงบ้างหรือเหี่ยวประมาณ 75-80% ให้นำผ้าพลาสติกออกแล้วให้น้ำพร้อมปุ๋ยสุตร 12-24-12 ต้นละ 100-150 กรัม ซึ่งถ้าต้นมะนาวสมบูรณ์ดี หลังจากให้น้ำและปุ๋ยประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นมะนาวจะผลตาดอกหรือแตกใบอ่อน พร้อมออกดอก    ช่วงนี้  ต้องหมั่นดูแลรักษาไม่ให้ศัตรูมาทำลายมะนาวโดยเฉพาะ เพลี้ยไฟ ไรแดง และหนอนชอนใบ เป็นต้น
          9.  การเก็บเกี่ยว 
              หลังจากมะนาวออกดอก ติดผลได้ 4 - 5 เดือน  จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตสู่ตลาดได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพันธุ์และช่วงเดือนที่บังคับ  ไม่ควรปล่อยให้ผลมะนาวที่แก่แล้วอยู่บนต้นนานๆเป็นการสิ้นเปลืองอาหารมาเลี้ยงผล อาจทำให้ต้นทรุดโทรมได้ปล่อยให้ผลมะนาวที่แก่แล้วอยู่บนต้นนานๆ เป็นการสิ้นเปลืองอาหารมาเลี้ยงผล อาจทำให้ต้นทรุดโทรมได้